Saturday, May 22, 2010

ดอกกระเจียว

ภาพที่ปรากฏให้เห็นนี้นั้น มีเพียงปีละครั้ง เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน อันเป็นช่วงที่หัวไม้ต่างๆ ในสกุล Curcuma วงศ์ ZINGIBERACEAE พากันผุด ผลิดดอกงดงาม ไม้พวกนี้มักเรียกกัน ในภาษาพื้นบ้านว่า "กระเจียว หรือขมิ้นต่างๆ" ซึ่งดอกอ่อนบางชนิด รับประทานได้ ส่วนดอกกระเจียวสีชมพู หรือที่เรียกว่า ปทุมมา หรือ บัวสวรรค์ ที่ขึ้นเป็นดงตามทุ่ง ก้านดอกเล็กเรียวยาวและแข็ง รับประทานไม่ได้ โดยมากกระเจียว หรือ Cucuma ต่างๆ นี้ มักพักตัวอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว และฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูฝน จึงเริ่มผลิใบและออกดอก บางพันธุ์มีดอกผุดขึ้นก่อนใบ บางพันธุ์ขึ้นพร้อมกันทั้งดอกและใบ โดยมากประเภทแรกนี้ รับประทานดอกได้ เพราะก้านค่อนข้างสั้น อวบน้ำ ใช้ลวกรับประทานกับน้ำพริก ปทุมาหรือบัวสวรรค์ในภาพนั้นมีก้านแข็ง ไม่ใช้ประกอบอาหาร แต่มีความสวยงามในแง่ของไม้ประดับ ไม้เหล่านี้ได้ผ่านการคัดเลือกพันธุ์มาแล้ว ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ป่าดั้งเดิมที่พบแถบปราจีนบุรี ชัยภูมิ เลย อุบลฯ ฯลฯ ชนิดป่านั้นกลีบสีชมพู ซึ่งคล้ายกับกลีบบัวหลวง มีลายสีไล่เรียงกัน ตั้งแต่ชมพูเข้ม ชมพูอ่อนจนถึงสีขาวกลีบรูปร่างแคบและลีบ มีน้อย จึงห่อซ้อนกันไม่มาก ปลายกลีบมักมีสีเขียวอมน้ำตาลแต้มอยู่ เป็นรอยขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากพันธุ์ที่คัดเลือกใว้เพื่อปลูกขาย กลีบจะมีสีชมพูสวย แผ่นกลีบกว้างคุ้มได้รูปอย่างกลีบบัวจริง ห่อหุ้มซ้อนกันหลายชั้น พันธุ์นี้ถือว่าสวยที่สุดต้องไม่มีรอย แต้มสีเขียวที่ปลายกลีบ หรือมีน้อยที่สุด กลีบดอกสีสวยนี้ความจริงคือกลีบรองดอก ส่วนดอกจริงมีขนาดเล็ก รูปร่างกล้ายดอกกล้วยไม้ โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบปากมีสีม่วงสดใส แต้มลายเหลือง กลีบอื่นๆ สีขาว ดอกจะเกิดในกลีบรองดอกสีขาว ช่วงล่างซึ่งเป็นรูปโค้งเป็นช่องดอกบายช่วงเช้า และสลดเฉาในช่วงเย็น ภายในกลีบรองดอกนี้มีดอกตูมเล็กๆ อีกมากมาย จะผลิดบานไล่กันไปเรื่อยๆ แต่ละช่องมีดอกบานวันละดอก ในหนึ่งวันอาจมีดอกบานพร้อมกัน ๑ ช่อ ๓-๔ ดอก
ชื่อ กระเจียว
ชื่ออื่น กระเจียวแดง ดอกกระเจียว ดอกอีเจียว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aeruqinosa Roxb.
ลักษณะ เป็นพืชล้มลุกมีเหง้าในดิน ใบคล้ายใบพาย ออกดอกพร้อมกับใบโคน ช่อมีกาบซ้อนอยู่มาก ออกดอกสี เหลืองปนขาว กาบดอกตอนบนสีม่วงแดง ออกดอกปีละครั้งช่วงเดือนเมษายน - เดือนกรกฎาคม ฤดูแล้งต้น จะโทรม พอฤดูฝนหน่อจะแทงออกมา
แหล่งที่พบ พบทั่วไปในป่าโปร่งตามโคกหรือใต้ร่มไม้ใหญ่ บริเวณหัวไร่ปลายนา ในภาคเหนือและภาคอีสาน
ความสัมพันธ์กับชุมชน ชาวบ้านรับประทานกระเจียวเป็นผัก ส่วนที่เป็นผัก ได้แก่ หน่ออ่อน ดอกอ่อนและดอกแก่ กระเจียว สามารถบริโภคได้ทั้งสดและดอกรับประทานกับลาบ ก้อย ส้มตำ ดอกอ่อนลวกมักรับประทานกับน้ำพริก หรือ นำมาแกงได้ บางบ้านเก็บกระเจียวจากป่าธรรมชาติมาเพื่อจำหน่ายและรับประทานเอง ดอกอ่อนหัวอ่อนของ กระเจียวแดงรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ต้มกับน้ำมีสรรพคุณขับลม
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บดอกกระเจียวมาจำหน่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนทำให้มีรายได้เสริมเป็นพืชทางเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น



No comments:

Post a Comment